Wednesday, 25 April 2018

คุณสมบัติของสมาร์ทฟาร์มเมอร์

คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย Smart Farmer และ Smart Officer ได้กำหนดคุณสมบัติของ Smart Farmmer หรือเกษตรกรปราดเปรื่องไว้ เป็นกรอบเบื้องต้นในการคัดกรองคุณสมบัติของเกษตรกรเพื่อจัดชั้นเกษตรกรเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มเกษตรกรปราดเปรื่องต้นแบบ 2) กลุ่มที่เป็นเกษตรกรปราดเปรื่องอยู่แล้ว (Existing Smart Farmer) และ 3) กลุ่มเกษตรกรที่ต้องพัฒนาให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Developing Smart Farmer)

คุณสมบัติของสมาร์ทฟาร์มเมอร์ 

ผู้ที่เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ จะพิจารณาจากคุณสมบัติ 2 ด้าน คือ

ด้านที่ 1 คุณสมบัติด้านรายได้ 
มีรายได้รวมทางการเกษตรไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/ครัวเรือน/ปี โดยรายได้ดังกล่าวนี้วัดจาก รายได้ที่เป็นเงินสดจากการจำหน่ายผลผลิต ผลพลอยได้ และสิ่งอื่นใดที่ได้จากกระบวนการผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ให้รวมถึงคำจำกัดความของรายได้ทางการเกษตรตามนิยามของการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ของกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ข้อมูลรายได้ของเกษตรกรจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และข้อมูลบัญชีครัวเรือนเกษตรกรและกลุ่มอาชีพของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ด้วย

ด้านที่ 2 คุณสมบัติพื้นฐาน 6 ข้อ เกษตรกรที่เป็น Smart Farmer ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐาน 6 ข้อ โดยต้องผ่านการพิจารณาตามตัวบ่งชี้อย่างน้อยหนึ่งตัวบ่งชี้ในแต่ละคุณสมบัติ ดังนี้


ภาพ Smart Farmer  จาก เว็บไซต์กรมปศุสัตว์. โดย สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเลย, 2560,  
สืบค้นจาก http://www.dld.go.th/th/index.php/th/service-people/infographic-menu
/13392-info-pvlo-loe-25600717-2
  1. มีความรู้ในเรื่องที่ทำอยู่ สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรหรือให้คำแนะนำปรึกษากับผู้อื่นได้ สามารถเป็นเกษตรกรต้นแบบหรือจุดเรียนรู้ให้กับผู้อื่น
  2. มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลทั้งจากเจ้าหน้าที่และผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอื่น ๆ เช่น Internet Mobile Phone Smart Phone มีการบันทึกข้อมูลและใช้ข้อมูลมาประกอบการวิเคราะห์วางแผนก่อนเริ่มดำเนินการและบริหารจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีการนำข้อมูลมาใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาอาชีพของตนเองได้
  3. มีการบริหารจัดการผลผลิตและการตลาด มีความสามารถในการบริหารจัดการปัจจัยการผลิต แรงงาน และทุน ฯลฯ มีความสามารถในการบริหารจัดการปัจจัยการผลิต แรงงาน และทุน สามารถเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดเพื่อให้ขายผลผลิตได้ มีการจัดการของเหลือจากการผลิตที่มีประสิทธิภาพ (Zero waste management)
  4. มีความตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค มีความรู้หรือได้รับการอบรมเกี่ยวกับมาตรฐาน GAP GMP เกษตรอินทรีย์ หรือมาตรฐานอื่น ๆ มีกระบวนการผลิตที่สอดคล้องกับมาตรฐาน GAP GMP เกษตรอินทรีย์ หรือมาตรฐานอื่นๆ
  5. มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม/สังคม มีกระบวนการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม (Green Economy) มีกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง
  6. มีความภูมิใจในความเป็นเกษตรกร มีความมุ่งมั่นในการประกอบอาชีพการเกษตร รักและหวงแหนพื้นที่และอาชีพทางการเกษตรไว้ให้คนรุ่นต่อไป มีความสุขและพึงพอใจในการประกอบอาชีพการเกษตร
เมื่อประเมินคุณสมบัติของเกษตรกรแล้ว ผ่านทั้งคุณสมบัติด้านรายได้และคุณสมบัติพื้นฐาน เกษตรกรรายนั้นจะอยู่ในกลุ่มที่เป็นเกษตรกรปราดเปรื่องอยู่แล้ว (Existing Smart Farmer) แต่ถ้าไม่ผ่านคุณสมบัติด้านรายได้ หรือคุณสมบัติพื้นฐาน หรือทั้งสองคุณสมบัติ เกษตรกรรายนั้นจะอยู่ในกลุ่มเกษตรกรที่ต้องพัฒนาให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Developing Smart Farmer)

คุณสมบัติสมาร์ทฟาร์มเมอร์ต้นแบบ
สำหรับเกษตรกรที่จะเป็นเกษตรกรต้นแบบนั้น จะต้อง
เป็นเกษตรกรที่ผ่านการประเมินคุณสมบัติด้านรายได้และคุณสมบัติพื้นฐานของการเป็นเกษตรกรปราดเปรื่องอยู่แล้ว (Existing Smart Farmer) และผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและตัวบ่งชี้ของสมาร์ทฟาร์มเมอร์ต้นแบบเฉพาะสาขา โดยคณะทำงานระดับกรมจะเป็นผู้พิจารณากำหนดคุณสมบัติและตัวบ่งชี้ของสมาร์ทฟาร์มเมอร์ต้นแบบเฉพาะสาขา เพิ่มเติมที่สอดคล้องกับกิจกรรมในการประกอบอาชีพทางการเกษตร ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าเกษตรที่เป็นเป้าหมายภารกิจของกรม เช่น
กรมประมงเป็นผู้กำหนดคุณลักษณะของสมาร์ทฟาร์มเมอร์ต้นแบบ สาขาการประมง
กรมการข้าวเป็นผู้กำหนดคุณลักษณะของ Smart Farmer ต้นแบบ สาขาข้าว เป็นต้น


เรียบเรียง : รักษก อภิวงค์คำ / นัชรี อุ่มบางตลาด สถาบัน กศน.ภาคหนือ

อ้างอิง :
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2556). คู่มือแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย Smart Farmer และ Smart Officer. คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย Smart Farmer และ Smart Officer, น. 18-19. สืบค้นจาก https://www.opsmoac.go.th/strategic-files-391191791803

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2560). แผนงาน Smart Farmer. สืบค้นจาก

https://www.moac.go.th/ a4policy-alltype-391191791803
ฤทัยชนก จริงจิตร (2556). เจาะลึก “Smart Farmer” แค่แนวคิดใหม่ หรือจะพลิกโฉมการเกษตรไทย. สืบค้นจาก http://www.tpso.moc.go.th/sites/default/files/1074-img.pdf

Tuesday, 17 April 2018

ตัวอย่างการจัดการศึกษาทางเลือกในไทย

การจัดการศึกษาทางเลือกในปัจจุบันสามารถเห็นได้จากรูปแบบของโรงเรียนวิถีธรรม โรงเรียนวิถีธรรมชาติ การสอนแบบ Home-based learning หรือ Home-school เป็นต้น ซึ่งมีจุดเน้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอน ผู้เรียน เนื้อหาหลักสูตร การจัดบรรยากาศให้เข้ากับวิถีของชุมชน และความเชื่อเป็นหลัก
ปัจจุบันมีบุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาทางเลือกจำนวนมาก ต่อไปนี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของผู้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทางเลือกในไทย

1. ครอบครัววิภานันท์ 
ครอบครัววิภานันท์อาศัยอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จัดการศึกษาให้ลูกโดยการเรียนการสอนแบบบ้านเรียน (Home School) โดยมุ่งเน้นจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนตามนิสัยการเรียนรู้ของลูก แบบค่อยเป็นค่อยไป และเรียนรู้จากการเฝ้าสังเกต และทดลองทำด้วยตนเอง นอกจากนี้ลูกยังมีความชอบค่อนไปทางศิลปะ นาฏศิลป์ และดนตรี โดยจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2

ครอบครัววิภานันท์ประสบผลสำเร็จและมีความภาคภูมิใจในผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของบุตรตนเอง ได้แก่ ลูกมีความสุขในชีวิตประจำวัน อารมณ์เบิกบาน แจ่มใจ มีความใฝ่รู้ กระตือรือร้น สนใจในคน สิ่งของเรื่องราวต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว มีลักษณะที่พึงประสงค์ในสังคม เป็นคนน่าคบหา มีความรับผิดชอบที่เหมาะสมตามระดับอายุ

2. โรงเรียนรุ่งอรุณ 
391 ถนนพระราม 2 ซอย 33 (ซอยวัดยายร่ม) แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150  http://www.roong-aroon.ac.th/

โรงเรียนรุ่งอรุณ เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Not for Profit Organization) ภายใต้มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ก่อตั้งและได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนในปี พ.ศ.2540 มีการจัดการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Learning) บูรณาการการเรียนรู้สู่ชีวิต ด้วยกระบวนการเรียนรู้ไปบนกิจวัตรประจำวัน บ่มเพาะลักษณะนิสัยที่ดีในวิถีของการรู้อยู่ รู้กิน และรู้ประมาณตนอย่างพอเหมาะพอดี การเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ การเรียนรู้จากสถานการณ์จริงในสังคม จนเข้าถึงคุณค่าที่แท้จริงของทุกสิ่งที่เรียน มีความรู้ความเข้าใจอย่างเชื่อมโยงตนเอง สังคมและโลก ประยุกต์ใช้ความรู้อย่างสร้างสรรค์ ขยายศักยภาพและสร้างดุลยภาพแห่งมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 ส่วนย่อย ดังนี้
  • โรงเรียนเล็ก ระดับอนุบาล 1 – อนุบาล 3
  • โรงเรียนประถม ระดับประถม 1 – ประถม 6
  • โรงเรียนมัธยม ระดับมัธยม 1 – มัธยม 6
การเรียนรู้ตามแนวทางของวิถีรุ่งอรุณ เป็นวิถีชีวิตแห่งการเรียนรู้ที่ครู นักเรียน พ่อแม่ เรียนรู้และเติบโตร่วมกัน มีชุมชนที่มีกัลยาณมิตรคอยโอบล้อม ทุกคนเป็นผู้เรียนรู้ เป็นตัวอย่างในการฝึกฝนตนเอง จนเป็นที่พึ่งของตนเองและผู้อื่นได้

3. โรงเรียนวรรณสว่างจิต 
โรงเรียนวรรณสว่างจิต  137 ถนนพระราม2 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150
http://www.wsc.ac.th/th/

โรงเรียนวรรณสว่างจิต เป็นโรงเรียนเอกชน สังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาการประถมศึกษากรุงเทพมหานคร ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2528

โรงเรียนวรรณสว่างจิตเรียนรู้ผ่านของจริง ไม่มีเด็กนักเรียนหรือครูคนไหนในชั่วโมงเรียนนี้นั่งท่อง ก- ฮ อยู่ในห้องเรียน มีแต่เสียงเจื้อยแจ้ว หัวร่อต่อกระซิกที่ดังแว่วมาจากใต้ร่มไม้ในชั่วโมงเรียนวิชาบูรณาการ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของชั้นเรียนที่นี่ ระบบการจัดการเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ แผนกเด็กเล็ก (ก่อนเข้าอนุบาล 2-3 ขวบ) แผนกอนุบาล และแผนกประถม

ทางด้านเด็กเล็กนั้น โรงเรียนใช้แนวคิดทฤษฎีของวอร์ดอร์ฟ ทฤษฎีทางการศึกษาที่เน้นเรื่องจิตวิญญาณด้านความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้มองการศึกษาแยกออกมาจากชีวิต หากมองว่าชีวิตทุกอย่างในโลกสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียวทางธรรมชาติ ซึ่งคล้ายทฤษฎีแนวพุทธที่มุ่งเน้นไปที่จิตใจ ความดีงาม เน้นสมาธิ การจดจ่อของเด็กในการทำงาน โดยใช้ศิลปะเป็นตัวนำ เรียนรู้ธรรมชาติและที่มาที่ไปของสิ่งต่าง ๆ ห้วงเวลา 1 วันที่เด็ก ๆ ใช้ชีวิตในโรงเรียน ทุกคนจะมีความเป็นอิสระ พูดคุยกับเด็กช่วงก่อนเข้าเรียน เปลี่ยนคาบ หรือตอนเย็น มีการจัดของเล่นที่เป็นของจากธรรมชาติ ไม่ซับซ้อน เช่น ผ้าย้อมสีจากธรรมชาติ บล็อกจากไม้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กต้องจินตนาการกับของเล่นเยอะเพราะเด็กวัย 2 ขวบจินตนาการสูง ครูผู้สอนจึงเล่านิทานให้เด็กฟังเพื่อให้เด็กจินตนาการตาม นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมทำอาหาร ให้ครูเป็นคนทำแต่เด็กช่วย เช่น ปั้นแป้ง ร่อนแป้ง อบ พอสุกก็รับประทานกัน มีการให้ปลูกข้าวหน้าห้อง เด็กเห็นขั้นตอน ตั้งแต่การหว่าน งอก ออกรวง เก็บจากรวงทำอาหาร มีการจับต้องได้สัมผัสของจริง สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กได้เห็นที่มาที่ไปของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รู้ว่าอาหารต้องผ่านการลงมือทำ ข้าวต้องปลูกจึงจะได้กิน เด็กจึงเกิดความผูกพันกับธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ให้เด็กซึมเข้าไปในจิตใจและเด็กจะเห็นคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ เรียกว่า "ทฤษฎีวอร์ดอร์ฟ" จะช่วยให้เด็กมีสมาธิขึ้น กลับมาอยู่กับปัจจุบันไม่ตกเป็นเด็กในยุครีโมต ที่มีสมาธิสั้นขึ้นทุกวัน ๆ สำหรับตัวแปรสำคัญ คือ ครูจะต้องคำนึงว่าเด็กนั้นเรียนรู้จากแบบอย่างของผู้ใหญ่ ไม่ได้รู้จากการบอก การสั่ง ครูเหมือนเป็นแม่แบบ เมื่อครูสงบเด็กก็สงบ เมื่อครูวุ่นวายเด็กก็วุ่นวาย บทบาทของครูก็จะเหมือนแม่เลี้ยงลูกอยู่กับบ้าน รวมทั้งในแต่ละเทอมก็จะมีการวางแผนการสอนล่วงหน้า จัดกิจกรรมที่ทำซ้ำสม่ำเสมอ เป็นเวลาแน่นอนจนทำให้เกิดวินัยไม่ใช่เกิดจากการบังคับของผู้ใหญ่ ส่วนชั้นอนุบาลเด็กจะเริ่มโตขึ้น การเรียนการสอนก็จะต้องมีการปรับให้เป็นแบบผสมผสาน

นอกจากจะเรียนรู้ธรรมชาติแล้ว ยังมีเรื่องของ co-language คือเรียนภาษาแบบธรรมชาติกับการสอนแบบโปรเจกต์ แอพโพรช ซึ่งก็คือการสอนแบบโครงการเหมือนกับกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ สำหรับ co-language เป็นการสร้างให้เด็กรักการอ่านเขียน โดยไม่ได้หวังว่าเมื่อเด็กจบอนุบาล 3 จะสามารถอ่านได้เขียนได้ แต่เตรียมความพร้อมเพื่อการอ่านเขียนในชั้นประถม และสร้างทัศนคติที่ดีต่อภาษาให้เด็ก ให้เห็นว่าภาษามีความสำคัญเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน นำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น ในห้องเรียนจึงมีแต่นิทานไม่มีตำราเรียน สร้างสภาพแวดล้อมให้เห็นว่าภาษาเป็นสิ่งมีประโยชน์ "อยากเขียนอะไรก็เขียนได้ไม่มีผิดถูก เราไม่ให้เริ่มจากให้เขาเรียน กอ. ไก่ ขอ. ไข่ แต่เริ่มจากชื่อของเขา เอง เขาสามารถที่จะเก็บของถูกที่ หยิบจับถูก ซึ่งถ้าอ่านออกก็จะทำถูก ถ้าให้เขาเริ่มจากการฟัง พูด อ่านและเขียน เด็กก็จะเกลียดภาษาตั้งแต่ต้น ในคาบภาษาไทยจึงไม่มีการคัดลายมือ แต่เน้นวาดรูปภาพ ถือเป็นภาษาหนึ่งที่บันทึกความคิดออกมา และเป็นเรื่องที่เด็ก ๆ ทุกคนทำได้ บางภาพอาจดูไม่รู้เรื่อง แต่เขาสามารถเล่าอธิบายได้ ครูมักจะพาเด็ก ๆ ออกข้างนอกห้องเรียน ศึกษาสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ เช่น วันนี้ดอกไม้ตูม พรุ่งนี้ดอกไม้บานแล้ว พวกเขาได้เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง" ส่วนโครงการวิทยาศาสตร์ จะเน้นที่กระบวนการคิดแก้ปัญหา โดยเริ่มจากเรื่องที่เด็กสนใจ อยากรู้ ตั้งสมมติฐาน เช่น เจอลูกอ๊อด เด็กก็สงสัยว่าโตขึ้นลูกอ๊อดจะเป็นอะไร ครูก็ถามต่อว่าหนูคิดว่าโตขึ้นมันจะเป็นอะไร บางคนบอกเป็นแมว เป็นกบ เป็นหมา ครูจดบันทึก แล้วให้เด็กทดลองเลี้ยงดู ให้เขาได้คำตอบด้วยตัวเอง ครูจะคอยกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก โดยการจดบันทึกข้อมูลจากนั้นก็จะเฉลยในสิ่งที่เด็กคิดว่าใช่หรือไม่

สำหรับผลพัฒนาการของเด็ก ครูจะทำหน้าที่บันทึกเด็กรายบุคคล แล้วส่งข่าวสารถึงผู้ปกครองทุกสัปดาห์ "ผู้ปกครองที่นำลูกมาเรียนกับเรามีทั้งที่พอใจและยังสงสัย กังวลใจตลอดเวลา กับภาพการเรียนการสอนที่แปลก การบ้านก็น้อย เดินทั้งวันแล้วก็ปลูกต้นไม้ ซึ่งเด็กข้างบ้านการบ้านเยอะ ก็ห่วงว่าลูกจะสู้ลูกคนอื่นไม่ได้ เด็กจบไปจะมีที่เรียนดี ๆ ไหม เด็กจะอยู่ร่วมกับสังคมได้ไหม เรื่องเหล่านี้เราไม่กังวลเรามั่นใจว่าเด็กทำได้ แต่ผู้ปกครองกลัวไปเอง และขณะนี้มีโรงเรียนทางเลือกหลายแห่งเปิดระดับมัธยม"

ทำไมส่งลูกมาเรียนทางเลือก ?
ชลธิชา ประถมบุตร แม่น้องเฟริน ซึ่งเรียนอยู่อนุบาล 2 เล่าว่า โรงเรียนสไตล์นี้เน้นที่ตัวเด็กแต่ละคน ซึ่งมีลักษณะ บุคลิก เอกลักษณ์ต่างกัน ทั้งนี้ สาเหตุที่ส่งมาเรียนเพราะอยากให้ลูกเป็นเด็กฉลาดร่าเริงสมกับวัยของเขา ไม่ต้องเครียดมาก ได้เรียนได้เล่นในสิ่งที่เขาชอบเขาต้องการ เด็กควรได้รับการพัฒนาความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ไม่เน้นวิชาการ อ่านออกเขียนได้ "เรื่องความรู้พี่สอนเขาเองได้ พี่พร้อมเสมอสำหรับลูกเชื่อว่าต่อไปลูกจะเป็นเด็กที่ดีมีความรับผิดชอบ หลังเลิกเรียนก็ไปรับลูก ระหว่างนั่งรถลูกจะเล่าว่าวันนี้เรียนเรื่องอะไรบ้าง ครูเล่านิทานเรื่องอะไร และทุกวันพุธ ทางโรงเรียนจะเชิญผู้ปกครองมาพูดคุย บอกว่าโรงเรียนสอนอะไร ทำกิจกรรมอะไรบ้างและให้ผู้ปกครองเข้าไปร่วมทำกิจกรรมกับน้อง ๆ" ชลธิชาแจกแจงพร้อมอธิบายว่า ผู้ปกครองคนใดมีแนวคิดส่งลูกเรียนโรงเรียนทางเลือกจะต้องมีเวลาร่วมกิจกรรมกับลูกด้วย
ส่วน น้องไวน์ ด.ญ.เลิศค่า ณ นครพนม น้องยีนส์ ด.ญ.ณัชชา จิระศักดิ์พิศาล น้องนีม ด.ญ.อชิตา บินกำซัน นักเรียน ป.4 บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า โรงเรียนของเราสนุกทั้งเรียนและเล่นที่โรงเรียนนี้ไม่เหมือนโรงเรียนอื่น ซึ่งเพื่อน ๆ แถวบ้านมักจะนำมาพูดคุยเปรียบเทียบกัน เช่น ครูไม่ดุ การบ้านไม่เยอะ ได้มีชั่วโมงคุยเล่นกับเพื่อน ได้ทัศนศึกษาบ่อย ๆ แต่ก็ต้องรู้จักทำความสะอาดดูแลห้องเรียน ล้างจานข้าว หุงข้าวกันเอง น้องๆ ทั้ง 3 คนยืนยันว่าชอบมาก ไม่อยากจบจากโรงเรียนนี้

4. โรงเรียนดรุณสิกขาลัย
ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
126 ถนนประชาอุทิศ บางมด ทุ่งครุ กทม. 10140

ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นโรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาในกำกับของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดตั้งขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือระหว่างมูลนิธิไทยคม มูลนิธิศึกษาพัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ The Media Lab of MIT เป็นโรงเรียนที่ไม่แสวงหาผลกำไร และไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน โดยการนำทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) ของ Prof.Seymour Papert แห่ง Massachusetts Institute of Technology (MIT) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ

เรียนรู้ผ่านสิ่งใกล้ตัว พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้ให้ข้อมูลว่า ดรุณสิกขาลัยต่างจากแห่งอื่น ๆ เนื่องจากใช้สิ่งใกล้ตัวเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยเรียนผ่านโครงงานต่าง ๆ ที่ครูและนักเรียนร่วมกันคิดว่า ตลอดหนึ่งสัปดาห์หรือภายในหนึ่งเดือนว่าจะเรียนเรื่องอะไรบ้าง จากนั้นครูจะมาวางแผนว่าสิ่งที่เด็กต้องการเรียนนั้นควรอยู่ช่วงวัน เวลาใดถึงจะเหมาะสม "เราไม่ได้จัดบรรยายภาพเหมือนชั้นเรียนปกติทั่วไปที่จะมีโต๊ะเก้าอี้ให้เด็กนั่งเรียนอยู่ในชั้นเรียน แต่เราจัดให้เด็กอายุไล่เลี่ยกันเรียนเรื่องเดียวกัน เพื่อให้พี่สอนน้อง ดูแลน้อง ขณะเดียวกันให้สิทธิเด็กมาแลกเปลี่ยนความรู้กันตั้งแต่ก่อนจะลงมือทำโครงงาน คือให้เด็กไปค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ อย่างหนังสือในห้องสมุด อินเทอร์เน็ต สอบถามจากผู้เชี่ยวชาญจากสถานที่จริง ๆ ส่วนครูมีหน้าที่อำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และชี้แนะเด็ก"

ยกตัวอย่างโครงงานพิซซ่า โรงเรียนจะให้เด็กค้นคว้าแล้วมาสรุปก่อนทำว่าต้องใช้อะไรบ้าง ปริมาณเท่าไหร่ จากนั้นเด็กจะแบ่งหน้าที่กันเองว่าใครจะเป็นคนไปซื้อของที่ตลาดสดหรือซูเปอร์มาร์เกตขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเด็ก "ผมเกือบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่าเด็กวัยไม่เกิน 10 ขวบสามารถทำพิซซ่าถาดพิเศษที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร มีทั้ง คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน โดยใส่ปลาทูน่า อาหารทะเล หมู เนื้อ ผัก ซึ่งไม่เหมือนยี่ห้อดังที่คนมักจะสั่งมารับประทานกัน" พารณ เล่าว่า เด็ก ๆ อธิบายว่าพิซซ่าของพวกเขาไม่ใช่อาหารขยะที่กินให้อิ่มท้อง แต่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เนื่องเพราะมีการทดสอบทางขบวนการวิทยาศาสตร์ว่า พิซซ่า 1 ชิ้น มีไขมัน โปรตีน แป้ง วิตามิน จำนวนเท่าไหร่ "วิธีการเรียนจากของจริง โดยเด็กลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ระหว่างทำเด็กจะรู้สึกสนุกซึมซับความรู้โดยไม่รู้ตัว พอทำเสร็จแล้วเด็กจะช่วยกันชิมว่ารสชาติอร่อยมั้ย บกพร่องตรงไหน เผื่อทำถาดต่อไปจะได้รสชาติถูกปาก ประการสำคัญเด็ก ๆ รู้จักการทำงานเป็นทีมเวิร์ก ช่วยกันคนละไม้คนละมือ" ทั้งนี้ โรงเรียนไม่ได้ให้เด็กนั่งทำอาหารเพียงอย่างเดียว ยังพาเด็กไปเรียนรู้นอกสถานที่ด้วย อย่างที่บ้านควาย จังหวัดสุพรรณบุรี ท้องฟ้าจำลอง พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ สวนผีเสื้อ เป็นต้น "ทางโรงเรียนไม่ได้ให้เด็กไปเดินดูแล้วจดข้อความที่สถานที่นั้น ๆ ติดไว้นะ เพียงแต่ก่อนที่จะออกไปเปิดหูเปิดตาเรียนเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง จะให้เด็กค้นข้อมูลก่อน ยกตัวอย่าง สวนผีเสื้อ เด็กสามารถแยกแยะว่า ผีเสื้อลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่าอะไร รู้เรื่องวงจรชีวิต และจากความชอบส่งผลให้เด็กบางคนทำแฟ้มผีเสื้อขึ้น ไว้เป็นพอร์ตของตัวเอง"
ระบบการเรียนการสอนของที่นี่ไม่มีการสั่ง เด็กต้องเรียนเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะเราคิดว่าการบังคับให้เด็กทำเรื่องที่สั่งเด็กอาจไม่ชอบ เด็กอาจมีปฏิกิริยาต่อต้าน เราจึงเลือกวิธีที่ว่าเด็กอยากเรียนรู้เรื่องอะไรให้เสนอเข้ามาแล้วโรงเรียนจัดให้ เชื่อว่าเด็กจะเรียนอย่างมีความสุข สนุก แล้วจำเรื่องที่เรียนได้อย่างแม่นยำ"


รวบรวมและเรียบเรียง : อรวรรณ ฟังเพราะ และ รสาพร หม้อศรีใจ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. หน่วยศึกษานิเทศก์. (2551). เอกสารสาระหลักการและแนวคิดประกอบการดำเนินงาน กศน. : คัมภีร์ กศน. กรุงเทพ : หน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย.

สมเกียรติ อินทสิงห์. (2559). การศึกษาทางเลือก: หลักสูตรและการเรียนการสอนที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล. เข้าถึงเมื่อ 6 มีนาคม 2561. บทความวิชาการจาก Veridian E-Journal, Silpakorn University ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2559. สืบค้นได้จาก https://www.tci-thaijo.org/ index.php/Veridian-E-Journal/article/view/67120/54761.

โรงเรียนรุ่งอรุณ. ความเป็นมาแห่งรุ่งอรุณ. สืบค้นจาก http://www.roong-aroon.ac.th/?page_id=1863.

มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว. การศึกษาทางเลือก. เข้าถึงเมื่อ 6 มีนาคม 2561. สืบค้นจาก http://www.familynetwork.or.th/content/

Monday, 2 April 2018

การศึกษาทางเลือกในประเทศไทย

ประเทศไทยเริ่มมีการจัดการศึกษาทางเลือกขึ้น เมื่อมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งในมาตรา 12 กำหนดให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยมีโอกาสและสามารถออกแบบการเรียนการสอนได้เอง

รูปแบบการศึกษาทางเลือกในไทยมีอะไรบ้าง ?
รูปแบบของการศึกษาทางเลือก มีความยืดหยุ่นและหลากหลายสอดคล้องกับธรรมชาติของผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้ รวมทั้งเนื้อหาสาระที่เรียนรู้ ซึ่งแนวทางของการศึกษาทางเลือกในประเทศไทย พอสรุปได้ 7 รูปแบบ ดังนี้ (สุชาดา จักรพิสุทธิ์, 2548 อ้างใน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. หน่วยศึกษานิเทศก์, 2551: 31 - 35)
  1. การศึกษาทางเลือกที่จัดโดยครอบครัวหรือโฮมสคูล ซึ่งครอบคลุมทั้งแบบครอบครัวเดี่ยว กลุ่ม และเครือข่ายครอบครัว
  2. การศึกษาทางเลือกที่อิงกับระบบโรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนที่สามารถจัดหลักสูตร หรือกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างไปจากโรงเรียนตามแนวกระแสหลักทั่วไป เน้นนวัตกรรมการเรียนรู้ การทดลองปฏิบัติหรือประสบการณ์ เช่น โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เป็นต้น
  3. การศึกษาทางเลือกสายครูภูมิปัญญา ได้แก่ พ่อครูปราชญ์ชาวบ้าน ที่มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาความรู้แก่ผู้เรียน เช่น ศิลปะ การช่าง ด้านเกษตรกรรม การแพทย์พื้นบ้าน สมุนไพร เป็นต้น
  4. การศึกษาทางเลือกสายศาสนาและวิธีปฏิบัติธรรม จัดการเรียนรู้แก่สมาชิกทั้งแนวเศรษฐกิจพอเพียง ต่อต้านการบริโภคนิยม การปฏิบัติสมาธิในแนวต่าง ๆ ตามวิถีความเชื่อ
  5. การศึกษาทางเลือกที่เป็นสถาบันนอกระบบ ได้แก่ กลุ่มกิจกรรมทางการศึกษาที่มีการจัดหลักสูตร หรือกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง ไม่อิงกับหลักสูตรรัฐ มีทั้งแบบเสียค่าใช้จ่าย และไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เสมสิกขาลัย สถาบันเรียนรู้ขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) เป็นต้น
  6. การศึกษาทางเลือกกลุ่มการเรียนผ่านกิจกรรม เป็นการเรียนรู้ที่กว้างขวางหลากหลายที่สุด มีผลในการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง ทั้งกลุ่มการเรียนรู้ ผ่านกลุ่มกิจกรรมชุมชน การสืบสานภูมิปัญญา การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์ทรัพยากร การแพทย์พื้นบ้าน การสาธารณสุข การจัดการปัญหาชุมชน เด็ก และสตรี เป็นต้น
  7. การศึกษาทางเลือกผ่านสื่อการเรียนและแหล่งเรียนรู้ ทั้งที่เป็นสื่อมวลชน เช่น นิตยสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อชุมชน อินเทอร์เน็ต ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สถานที่ท่องเที่ยว หรือแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ
ที่ผ่านมาการศึกษาทางเลือกในไทยมีปัญหาอะไรบ้าง ?
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกได้เข้าหารือกับ สพฐ. โดยมี รศ.ประภาภัทร นิยม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ขณะนั้น) เป็นประธานการประชุมในประเด็นการจัดการศึกษาของกลุ่มการศึกษาทางเลือก ที่มีอุปสรรค ข้อติดขัดสำคัญในเรื่องการจัดการศึกษาทางเลือกตามมาตรา 12 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 เป็นช่องทางที่เปิดให้คนไทยมีโอกาสและสามารถออกแบบการเรียนการสอนได้เอง การศึกษาทางเลือก แม้จะมีกฏหมายรองรับมา 16 ปีแล้ว แต่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือ สพฐ.ในฐานะผู้ออกกรอบระเบียบการปฏิบัติกลับเขียนด้วยภาษาที่กำกวม ทำให้ผู้ปฏิบัติงานตีความไม่ตรงกัน รวมทั้งความเข้าใจของข้าราชการสำนักงานเขตพื้นที่ต่อการศึกษาทางเลือก จนบัดนี้ปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ส่งผลให้ผู้จัดการศึกษาทางเลือกประสบปัญหาในหลาย ๆ ด้าน

นอกจากนี้ สำนักงานเขตพื้นที่ยังตีความกฎหมาย กฎกระทรวงที่ไม่สอดคล้องกันกับบ้านเรียน/ศูนย์การเรียน รวมทั้งทัศนคติของกลุ่มศึกษานิเทศน์ การพิจารณาแผนการเรียน ความไม่วางใจครอบครัว การไม่ยอมรับว่าระบบโรงเรียนในเขตตนเองมีปัญหา ส่งผลให้เป็นอุปสรรคในการขอจัดอนุญาตจัดตั้งศูนย์การเรียน/บ้านเรียน เจ้าหน้าที่ไม่มีความเข้าใจในการพิจารณาอนุญาต นัดหมายผู้จัดการศึกษาทางเลือกหลายครั้ง ทำให้ครอบครัว/ผู้จัดการศึกษาทางเลือกเสียเวลาในการประสานงานติดตามด้วยวาจาและทำหนังสือ


รวบรวมและเรียบเรียงโดย :
อรวรรณ ฟังเพราะ และ รสาพร หม้อศรีใจ สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. หน่วยศึกษานิเทศก์. (2551). เอกสารสาระหลักการและแนวคิดประกอบการดำเนินงาน กศน. : คัมภีร์ กศน. กรุงเทพ : หน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย.

ถกปัญหาการศึกษาทางเลือก โอกาสของเด็กไทยและแนวโน้มออกจากระบบ – จัดการศึกษาเอง. สืบค้นจาก https://thaipublica.org/2015/04/alternative-education-1/