Wednesday, 16 May 2018

พร้อมเพย์ (PromtPay)

พร้อมเพย์ (PromtPay) คืออะไร
บริการพร้อมเพย์ (PromptPay) หรือเดิมใช้ชื่อว่า เอนี่ ไอดี (Any ID) เป็นบริการทางเลือกใหม่ให้ประชาชน ธุรกิจ และหน่วยงานต่าง ๆ เลือกใช้ในการโอนเงินและรับเงินระหว่างกันแบบใหม่ ทำให้ผู้ใช้มีความสะดวกมากขึ้น เพราะระบบพร้อมเพย์จะใช้เลขประจำตัวประชาชน และ/หรือ หมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับเงินแทน ทำให้สะดวกและง่ายต่อการจดจำมากกว่าระบบการโอนเงินแบบเดิมที่ต้องรู้เลขที่บัญชีเงินฝากของผู้รับเงินจึงจะโอนเงินได้ โดยพร้อมเพย์จะให้บริการผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคาร คือ Internet Banking  Mobile Banking และ ตู้ ATM  การให้บริการพร้อมเพย์ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของประเทศไทย

ระบบพร้อมเพย์มีการดูแลความปลอดภัยตั้งแต่ขั้นตอนการลงทะเบียนที่รัดกุม การพัฒนาระบบกลางที่มั่นคงปลอดภัย และการใช้งานของประชาชนผู้โอนเงินอย่างถูกต้อง โดยผู้ให้บริการระบบกลางพร้อมเพย์ของประเทศ คือ บริษัท NITMX  จึงเป็นระบบปิดที่มีการดูแลรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล คนภายนอกไม่สามารถต่อเข้ากับระบบนี้ผ่านช่องทาง Internet ทั่วไปได้ และธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ติดตามดูแลการพัฒนาระบบด้านความมั่นคงปลอดภัยอีกด้วย
ภาพจากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย


วีดิทัศน์ พร้อมเพย์...รู้จัก เข้าใจ ใช้เป็น โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย 
สืบค้นจาก https://www.bot.or.th/broadcast/promptpay20170224.mp4



พร้อมเพย์มีประโยชน์อย่างไร

- เพิ่มทางเลือกและความสะดวกในการโอนและรับเงินให้ประชาชน
- ค่าบริการในการโอนเงินถูกกว่าบริการโอนเงินแบบเดิม
- ลดภาระและต้นทุนในการบริหารจัดการเงินสดและพิมพ์ธนบัตรของประเทศ
- รัฐดูแลประชาชนด้านสวัสดิการโดยจ่ายเงินผ่านช่องทางพร้อมเพย์


ช่องการลงทะเบียนพร้อมเพย์
การลงทะเบียนผูกบัญชี เพื่อใช้บริการพร้อมเพย์ สามารถทำด้วยตนเองโดยผ่านช่องทางการลงทะเบียนทาง Internet/Mobile Banking  หรือทางตู้ ATM  โดยต้องใช้ข้อมูลเลขประจำตัวประชาชนและโทรศัพท์มือถือ

แต่หากผู้ใช้ไม่สะดวกหรือไม่เข้าใจวิธีการลงทะเบียนด้วยตนเอง สามารผูกบัญชีผ่านเคาร์เตอร์ธนาคารเจ้าของบัญชีได้ โดยเตรียมเอกสารและข้อมูลที่จำเป็น ดังนี้
1. สมุดบัญชี/เลขที่บัญชีเงินฝากธนาคาร (เงินฝากออมทรัพย์ หรือ กระแสรายวัน)
2. บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง
3. โทรศัทพ์มือถือที่ต้องการลงทะเบียน

ช่องทางการโอนเงิน
การโอนเงินทางระบบพร้อมเพย์จะมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าการโอนเงินแบบเดิม สามารถโอนได้ทางช่องทางการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ Internet Banking  Mobile Banking และ ATM

ค่าธรรมเนียมในการโอนเงินระหว่างบุคคลทั่วไปในระบบพร้อมเพย์
ไม่เกิน 5,000 บาท ค่าธรรมเนียมในการโอน ฟรี
มากกว่า 5,000 บาท - 30,000 บาท ค่าธรรมเนียมในการโอน ไม่เกิน 2 บาท
มากกว่า 30,000 บาท - 100,000 บาท ค่าธรรมเนียมในการโอน ไม่เกิน 5 บาท
มากกว่า 100,000 บาท - วงเงินสูงสุดที่ธนาคารกำหนด ค่าธรรมเนียมในการโอน ไม่เกิน 10 บาท
ไม่จำกัดจำนวนครั้งในการโอน



เรียบเรียง : นัชรี อุ่มบางตลาด สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2560). พร้อมเพย์ พร้อมใช้. สืบค้นจาก https://www.bot.or.th/Thai/PaymentSystems/PSServices/PromptPay/Pages/default.aspx 

ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2560). พร้อมเพย์...รู้จัก เข้าใจ ใช้เป็น (วีดิทัศน์). สืบค้นจาก 
https://www.bot.or.th/broadcast/promptpay20170224.mp4

ใช้อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งและโมบายแบงก์กิ้งอย่างไรให้ปลอดภัย

อิเล็กทรอนิกส์แบงก์กิ้งไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง หรือโมบายแบงก์กิ้ง นับวันจะเป็นที่นิยมและเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นทุกที เนื่องด้วยเป็นการอำนวยความสะดวกสบายให้ผู้ใช้ ที่สามารถทำธุรกรรมได้ด้วยตนเองผ่านทางอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ โดยไม่ต้องเดินทางมาที่ธนาคารด้วยตนเอง โดยเฉพาะโมบายแบงก์กิ้งนั้น นับวันจะมีผู้ใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องด้วยโทรศัพท์มือถือแทบจะนับได้ว่าเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทยในทุกวันนี้ แต่การที่เทคโนโลยีที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ผู้ใช้จำนวนมากที่นึกถึงความสะดวกสบายเป็นหลัก แต่อาจขาดความระมัดระวังรอบคอบในการใช้ เป็นช่องทางให้มิจฉาชีพฉกฉวยผลประโยชน์จากความไม่ระมัดระวังของเราได้


การใช้อินเทอร์เน็ต/โมบายแบงก์กิ้งให้ปลอดภัย ควรปฏิบัติดังนี้
  1. ใช้งานอินเทอร์เน็ต/โมบายแบงก์กิ้งผ่านอุปกรณ์ที่เชื่อถือได้เท่านั้น ทางที่ดีควรใช้ผ่านอุปกรณ์ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน หลีกเลี่ยงการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์สาธารณะ เช่นในอินเทอร์เน็ตคาเฟ่โดยเด็ดขาด เพราะอุปกรณ์ที่ไม่ใช่ของส่วนตัวอาจมีการลงโปรแกรมที่สามารถเข้าถึงและดึงข้อมูลส่วนบุคคลไปได้ 
  2. ไม่ใช้งานอินเทอร์เน็ต/โมบายแบงก์กิ้ง ผ่าน Wi-Fi สาธารณะ เช่น ตามสถานที่ท่องเที่ยว หรือห้างสรรพสินค้าที่มีบริการ Wi-Fi ฟรี เนื่องจากมีความเสี่ยงถูกแฮกเกอร์ดักถอดรหัส โดยใช้วิธีเปิด Access Point ปลอม เพื่อหลอกให้เข้าไปใช้ Wi-Fi ฟรี เพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลบัญชีเงินฝาก และรหัสเข้าใช้งานในการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ  ดังนั้น หากต้องการใช้งานนอกบ้าน ควรใช้งานผ่านซิมการ์ดของโทรศัทพ์มือถือของตนเองเท่านั้นจะปลอดภัยกว่า 
  3. เมื่อต้องการเข้าใช้อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ผ่านทางคอมพิวเตอร์ โดยเข้าทาง Web Browser ควรพิมพ์ที่อยู่ (URL) ของเว็บไซต์ธนาคารลงในช่อง Address bar โดยตรงทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการคลิกลิงค์ที่เสิร์ชจาก Google เพราะอาจเผลอคลิกเข้าไปยังเว็บไซต์ปลอมที่มีการสร้างชื่อเว็บไซต์เลียนแบบให้ใกล้เคียงกับเว็บธนาคาร เช่น เปลี่ยนนามสกุลของเว็บ จาก .com เป็น .co หรือสะกดชื่อใกล้เคียงกับเว็บไซต์จริง หากไม่ได้ตรวจสอบให้ดี ก็อาจคลิกเข้าเว็บไซต์ผิดจนถูกหลอกเอาข้อมูลไปใช้ได้ หากใช้งานเป็นประจำควรบันทึกเว็บไซต์ธนาคารที่ถูกต้องไว้เป็นบุ๊คมาร์คในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว
  4. เมื่อเข้าสู่เว็บไซต์ธนาคารแล้ว เพื่อความมั่นใจว่าได้เข้าสู่เว็บไซต์ของธนาคารที่ถูกต้อง ให้ตรวจสอบในช่อง Adress Bar ก่อนว่า URL จะต้องนำหน้าด้วย https:// พร้อมกับมีไอคอนรูปแม่กุญแจเสมอ ตัวอักษร “s” ต่อท้าย http หมายถึง security หรือเว็บที่ปลอดภัย โดยตัว s เป็นเครื่องหมายยืนยันว่ามีการเข้ารหัส และติดต่อกับ Server ของธนาคารจริง

    ข้อสังเกตการเข้าเว็บไซต์ที่ถูกต้อง ภาพจากเว็บไซต์ธนาคารกรุงไทย

  5.  ตั้งรหัสผ่านการเข้าใช้งานเว็บไซต์อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งให้ปลอดภัย รหัสผ่านที่ดีควรประกอบด้วย ตัวอักษรใหญ่ ตัวอักษรเล็ก ตัวเลขผสมกัน และมีความยาวอย่างน้อย 6 ตัวอักษรขึ้นไป ไม่ควรตั้งรหัสผ่านที่เดาง่ายอย่างเช่น “12345678”, “password” วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัทพ์ ตัวเลขหรืออักษรเรียงกัน และควรเปลี่ยนรหัสผ่านทุก 3 เดือน 
  6. ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง เช่น รหัสชื่อผู้ใช้บริการ (User ID) รหัสผ่าน (Password) หมายเลขบัตรและรหัสเอทีเอ็ม (ATM PIN) รหัสบัตรเครดิต หมายเลขบัญชี หรือข้อมูลส่วนบุคคลผ่านทางอีเมล์หรือสื่อโซเซียลใด ๆ
  7. ควรสมัครใช้งานบริการแจ้งเตือนด้วย SMS ทางโทรศัทพ์มือถือ เมื่อมีเงินเข้าหรือออกไว้ด้วย เพราะหากมีความเคลื่อนไหวบัญชีที่ผิดสังเกต จะได้ทราบทันท่วงที ซึ่งการสมัครแจ้งเตือนผ่าน SMS อาจมีค่าธรรมเนียมบริการแจ้งเตือน SMS ของธนาคาร อยู่ประมาณ 10-20 บาท/เดือน/บัญชี 
  8.  หากธนาคารมีบริการแจ้งเตือนความเคลื่อนไหวบัญชีผ่าน e-mail ควรสมัครใช้ไว้ด้วยเช่นกัน เพราะข้อมูลที่แจ้งเตือนผ่าน e-mail จะมีรายละเอียดมากกว่าการแจ้งเตือนทาง SMS ทำให้ทราบว่าเงินถูกโอนออกไปยังบัญชีชื่อใคร เมื่อไหร่ หรือเลขที่รายการอะไร เป็นต้น
  9.  หลังจาก login เพื่อใช้งาน Internet Banking แล้ว ไม่ควรบันทึกรหัสผู้ใช้และรหัสผ่านเข้าสู่ระบบแบบอัตโนมัติไว้บนเบราเซอร์ และเมื่อใช้งานเสร็จแล้วต้องคลิกออกจากระบบหรือ Log Out ทุกครั้ง ไม่ว่าจะใช้ผ่านเว็บไซต์ หรือผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัทพ์มือถือ และควรล็อกโทรศัทพ์มือถือทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งานและไม่ทำธุรกรรมในที่ที่ผู้อื่นมองเห็นหน้าจอได้ง่าย เพื่อป้องกันการถูกขโมยข้อมูล 
  10. ติดตั้งโปรแกรม Antivirus หรือ Spyware ไว้ในเครื่อง เป็นการช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับอุปกรณ์ เพราะโปรแกรมเหล่านี้จะตรวจค้นหาสิ่งผิดปกติในเครื่อง และควรทำการอัพเดตเวอร์ชั่นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไวรัส หรือมัลแวร์ใหม่ๆ ที่โจมตีด้วย
  11. อย่าหลงเชื่อและตอบกลับอีเมล์ หรือ SMS หลอกลวง ที่แจ้งให้ผู้ใช้บริการปรับปรุงข้อมูลหรือยืนยันความถูกต้อง หากได้รับอีเมล์หรือ SMS ที่มีข้อความประเภท “รีบ Log-in ใช้บัญชีของคุณด่วน มิเช่นนั้นบัญชีจะถูกยึด หรือถูกระงับ” พร้อมทั้งส่ง “ลิงก์” มาให้คลิกเข้าไปลงชื่อใช้ ห้ามหลงเชื่อเด็ดขาด เพราะทุกธนาคารไม่มีนโยบายแจ้งเตือนแล้วให้ลูกค้าเข้าเว็บไซต์ด้วยการคลิกลิงค์ในอีเมล์ บน SMS หรือลิงค์บนเว็บบอร์ดใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นหากได้รับอีเมล์ หรือ SMS ลักษณะดังกล่าว ห้ามคลิกลิงก์ใด ๆ และลบทิ้งได้เลย และควรแจ้งไปยังธนาคารผู้ให้บริการทราบด้วย เพื่อที่การปลอมแปลงอีเมล์และ SMS หลอกลวงจะได้ถูกดำเนินตามกฎหมาย 
  12. โหลดแอปพลิเคชั่น Mobile Banking จากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น เช่น สำหรับระบบปฏิบัติการ Android โหลดผ่าน Google Play และสำหรับสำหรับระบบปฏิบัติการ iOS โหลดผ่าน App Store เท่านั้น เพื่อความปลอดภัย และก่อนโหลดแอปพลิเคชั่น ควรสังเกตชื่อของผู้ผลิตแอปพลิเคชั่นว่าเป็นของธนาคารจริง 
  13. ในการทำธุรกรรมผ่าน Internet/Mobile Banking ควรตรจสอบความถูกต้องของข้อมูลทุกครั้งว่า โอนเงินให้ใคร จ่ายบิลไหน จำนวนเงินเท่าใด ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนทัชหรือคลิกทุกครั้ง
  14. หากเกิดข้อผิดพลาดจากการใช้บริการการเงินผ่านระบบออนไลน์ หรือพบเห็นอะไรผิดปกติ รีบโทรแจ้ง Call Center ของธนาคารทันที อย่างน้อยถ้าเกิดการโจรกรรมขึ้นมาจริงๆ ก็อาจอายัติบัญชีไว้ได้ทัน
  15. หากยังรู้สึกไม่มั่นใจและไม่ปลอดภัย ควรแยกบัญชีที่ใช้กับ Internet/Mobile Banking ที่เราใช้ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบออนไลน์บ่อยๆ ไว้ต่างหากอีกบัญชี ใส่เงินไว้พอสมควรอย่ามากเกินไป บัญชีนี้เอาไว้ใช้อำนวยความสะดวกในการใช้จ่ายเท่านั้น และอีกบัญชีควรเป็นบัญชีออมทรัพย์ปกติที่เอาไว้เก็บเงินฝากจำนวนมาก ที่ใช้วิธีถอนหรือโอนเงินโดยการใช้สมุดบัญชีและการเซ็นชื่อถอนเงินตามปกติ อย่างน้อยหากเกิดการโจรกรรมทาง Internet Banking ขึ้นมาจริง ๆ ก็จะได้ไม่สูญเสียเงินจำนวนมาก 

เขียน/เรียบเรียง : นัชรี อุ่มบางตลาด สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน). (2561). 10 ความปลอดภัยที่ผู้ใช้ Internet Banking ต้องรู้. สืบค้นจาก https://www.mebytmb.com/blog/view/security-internet-banking.html 

เว็บไซต์ไอที 24 ชั่วโมง. (2561) ใช้งาน internet banking และ mobile banking อย่างไรให้ปลอดภัย. สืบค้นจาก https://www.it24hrs.com/2014/mobile-banking-safety/ 

ธนาคารกสิกรไทย. (2561). การใช้งาน Digital Banking อย่างไรให้ปลอดภัย. สืบค้นจาก https://www.kasikornbank.com/th/security-tips/Pages/index.aspx

สมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) คืออะไร


สมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) เป็นนโยบายสำคัญของยุทธศาสตร์แผนพัฒนาการเกษตร ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ซึ่งได้กำหนดวิสัยทัศน์ของแผนพัฒนาการเกษตร คือ “เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความมั่นคงด้านอาหารเป็นฐานสร้างรายได้ให้แผ่นดิน” ประกอบกับยุทธศาสตร์ประเทศที่กำหนดไว้ว่า“ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขัน คนไทยอยู่ดีกินดี มีความเสมอภาค และเป็นธรรม” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้นำวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ประเทศดังกล่าวไปกำหนดแผนการปฏิรูปการเกษตรของประเทศไทย (พ.ศ. 2556-2561) โดยเน้นการพัฒนาเกษตรกรให้มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ มีภูมิคุ้มกันพร้อมรับความเสี่ยงในการผลิตและการตลาด รวมทั้งมีความสามารถในการผลิตและการตลาด พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้จัดการฟาร์มมืออาชีพ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้มุมมองที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) และเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) ไว้ ดังนี้

สมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) หรือ เกษตรกรปราดเปรื่อง
ในมุมมองของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวคิดว่า สมาร์ทฟาร์มเมอร์ หมายถึง เกษตรกรที่มีความรู้อย่างถ่องแท้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีความคิดในการวางแผนเป็นเลิศ โดยเฉพาะการรู้ถึงอุปสงค์ของตลาดและเตรียมการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการ รวมทั้งมีความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และความพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นอกจากนั้นยังมีความสามารถในการแก้ปัญหาได้รวดเร็ว โดยการวิเคราะห์ข้อมูลรอบด้านเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจที่ตั้งอยู่บนหลักการและเหตุผล ตลอดจนรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเกษตร
สมาร์ทฟาร์ม (Smart Farm) หรือ เกษตรอัจฉริยะ
ในมุมมองของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้นำเสนอแนวคิดหลักของ สมาร์ทฟาร์ม คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการพัฒนาทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรไปจนถึงผู้บริโภค (From Farmer to Market) เพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิต ลดต้นทุน รวมทั้ง พัฒนามาตรฐานสินค้า หลักการของแนวคิด “Smart Farm” คือ ความพยายามยกระดับการพัฒนาเกษตรกรรมใน 4 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ 1) การลดต้นทุนในกระบวนการผลิต 2) การเพิ่มคุณภาพมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานสินค้า 3) การลดความเสี่ยงในภาคเกษตร ซึ่งเกิดจากการระบาดของศัตรูพืชและจากภัยธรรมชาติ และ 4) การจัดการและส่งผ่านความรู้
ในมิติของผลผลิต “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” จะเน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัยต่อ ผู้บริโภค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในด้านรายได้ ปัจจุบันรายได้เฉลี่ยของเกษตรกรอยู่ที่ ครัวเรือนละ 132,000 บาทต่อปี การก้าวสู่ “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” นั้น เกษตรกรจะมีรายได้อย่างน้อยในระดับเดียวกับหรือมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ8nvวันละ 300 บาทเป็นอย่างน้อย ซึ่งหมายถึงรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท หรือเท่ากับเงินเดือนขั้นต่ำของผู้จบปริญญาตรี รายได้ที่สูงขึ้นนี้จึงสะท้อนว่า “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” คือเกษตรกรซึ่งมีระดับมาตรฐานความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตดี คุณสมบัติทั้งหมดนี้จะส่งเสริมให้เกษตรกรที่เป็น “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

การพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)
หลักการสำคัญในการพัฒนา “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” คือ การพัฒนาตัวเกษตรกรให้มีองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน การทำการเกษตรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความรู้ด้านบัญชีต้นทุน ด้านการตลาด ตลอดจนช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกลไกการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยพัฒนาเกษตรกรให้สามารถเข้าถึงข่าวสารที่ทันเหตุการณ์และความรู้ด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการดำเนินงานที่สำคัญคือ

จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตร เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภาคส่วนให้ครอบคลุมทั้งในด้านของแหล่งผลิต ฤดูกาลที่ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณผลผลิต สภาพภูมิอากาศ รวมทั้งราคาสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ราคาสินค้า การตลาดทั้งในและนอกประเทศ ปัจจัยการผลิต การเตือนภัย โดยสร้างเป็นเครือข่ายข้อมูลทุกจังหวัด
พัฒนา Smart Officer ซึ่งคือ เจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ มีความรู้ทางวิชาการ มีความเข้าใจในนโยบาย การบริหารจัดการงาน/โครงการ มีเทคนิคการถ่ายทอดที่ดี สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน มีความรักเกษตรกรเหมือนญาติและมุ่งมั่นที่จะสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านต่าง ๆ ให้แก่เกษตรกร

ความความสัมพันธ์ระหว่าง Smart Farmer กับ Smart Officer

ภาพจาก เจาะลึก “Smart Farmer” แค่แนวคิดใหม่ หรือจะพลิกโฉมการเกษตรไทย (น.5), โดย ฤทัยชนก จริงจิตร, 2556, สืบค้นจาก http://www.tpso.moc.go.th/sites/default/files/1074-img.pdf



เรียบเรียง : รักษก อภิวงค์คำ / นัชรี อุ่มบางตลาด สถาบัน กศน.ภาคหนือ

อ้างอิง :
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2556). คู่มือแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย Smart Farmer และ Smart Officer. สืบค้นจาก https://www.opsmoac.go.th/strategic-files-391191791803

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2560). แผนงาน Smart Farmer. สืบค้นจาก https://www.moac.go.th/ a4policy-alltype-391191791803

ฤทัยชนก จริงจิตร (2556). เจาะลึก “Smart Farmer” แค่แนวคิดใหม่ หรือจะพลิกโฉมการเกษตรไทย. สืบค้นจาก http://www.tpso.moc.go.th/sites/default/files/1074-img.pdf

การสมัครใช้บริการ Internet Banking


ผู้ที่จะสมัครใช้บริการ Internet Banking ในประเทศไทย มีเงื่อนไขการสมัครใช้บริการ ดังนี้
  • เป็นบุคคลธรรมดาที่มีบัญชีเงินฝากประเภทบัญชีออมทรัพย์หรือบัญชีกระแสรายวันกับธนาคาร
  • บัญชีที่ใช้สำหรับสมัครต้องเป็นบัญชีบุคคลธรรมดาที่เป็นชื่อเดียวเท่านั้น (ต้องไม่เป็นบัญชีที่เปิดร่วมกับผู้อื่น)
  •  มี e-mail address และเบอร์โทรศัพท์มือถือที่จดทะเบียนในประเทศไทย สำหรับรับรหัส OTP (One Time Password) หรือบางแห่งเรียก TOP (Time Out Password) ซึ่งคือชุดรหัสผ่านสำหรับใช้ครั้งเดียวที่ระบบสร้างขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต โดยเป็นตัวเลขจำนวน 6 หลักส่ง SMS ไปยังโทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้ตรวจสอบและยืนยันความเป็นเจ้าของบัญชีก่อนการเข้าถึงและเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ซึ่งรหัสผ่านชุดนี้จะมีอายุประมาณ 3 นาที หากเลยเวลาดังกล่าวจะไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก 
ช่องทางการสมัครใช้ Internet Banking สามารถสมัครได้ 3 ช่องทาง คือ
  1.  สมัครด้วยตนเองทางอินเทอร์เน็ต ผ่านทางเว็บไซต์ของธนาคาร โดยผู้สมัครต้องที่มีบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต ตามที่ธนาคารระบุ และกรอกข้อมูลการสมัครตามแบบฟอร์มในระบบออนไลน์ บางธนาคารอาจให้มีการยืนยันตัวตนอีกครั้งหนึ่งหลักจากสมัครในระบบออนไลน์แล้ว โดยนำบัตรประชาชนและสมุดบัญชีไปแสดงตัวตนต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารเจ้าของบัญชี สาขาใดก็ได้ หรืออาจต้องลงทะเบียนหมายเลขโทรศัพท์มือถือเพื่อขอรับรหัส TOP/OTP ผ่านตู้ ATM/ADM อีกครั้ง
  2.  สมัครด้วยตนเองผ่านทางตู้ ATM ด้วยบัตร ATM หรือบัตรเดบิต 
  3.  สมัครที่ธนาคารเจ้าของบัญชีเงินฝาก สาขาใดก็ได้ โดยใช้หลักฐานคือ สมุดบัญชีเงินฝาก และบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางกรณีเป็นชาวต่างชาติ
การสมัครใช้ Mobile Banking
Mobile Banking คือการใช้ Internet Banking ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต โดยจะต้องติดตั้งแอปพลิเคชันของธนาคารในศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต โดยมีขั้นตอนดังนี้
  1. ดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชันของธนาคารที่ต้องการสมัครลงในโทรศัทพ์มือถือ
  2. ลงทะเบียนใช้งานโดยกรอกข้อมูลตามที่ระบุในแอปพลิเคชันของธนาคาร ดังนี้
    - ผู้ใช้ที่ใช้บริการ Internet Banking ของธนาคารนั้นอยู่แล้ว บางธนาคารสามารถใช้ User Name และ Password ของ Internet Banking ลงทะเบียนในแอปพลิเคชั่น Mobile Banking ได้ โดยระบบจะให้ตั้งรหัส Pin เป็นตัวเลขจำนวน 6 หลัก สำหรับเข้าใช้แอปพลิเคชั่นบนมือถืออีกครั้ง
    - ผู้ใช้ที่มีบัตร ATM บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตของธนาคาร สามารถนำข้อมูลบัตรมาสมัครใช้งาน Mobile Banking ได้ โดยกรอกข้อมูลบัตร และข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน (หรือข้อมูลตามที่แอปพลิเคชั่นของละธนาคารกำหนด) 
  3. ตั้งค่ารหัสและยืนยันรหัสผ่าน 
สามารถดูรายละเอียดและวิธีการสมัครเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ของแต่ละธนาคาร


เขียน/เรียบเรียง : นัชรี อุ่มบางตลาด. สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
ธนาคารกรุงไทย. (2561). สมัครใช้บริการ KTB Netbank. สืบค้นจาก https://www.ktbnetbank.com /consumer/

ธนาคารกสิกรไทย. (2561). ช่องทางการสมัคร Digital Banking. สืบค้นจาก
https://www.kasikornbank.com/th/Apply/Pages/Apply_index.aspx#digitalbanking

ธนาคารกสิกรไทย. (2561). ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตกสิกรไทย (K-Cyber Banking). สืบค้นจาก https://www.kasikornbank.com/th/ApplyForServices/ApplyForServiceForm/ KCBTC_TH_201611.pdf

ธนาคารไทยพาณิชย์. (2561). เงื่อนไขการบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์. สืบค้นจาก http://www.scb.co.th/th/personal-banking/electronic-banking/easy-net

Thursday, 10 May 2018

ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Banking)

ปัจจุบันการความนิยมต่อการใช้เทคโนโลยีในโลกออนไลน์และการพัฒนาของระบบเทคโนโลยีในโลกการเงินส่งผลให้เกิดบริการทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ ที่อำนวยความสะดวกและตอบสนองต่อการดำเนินชีวิตมากขึ้น ผู้บริโภคยุคใหม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมและทัศนคติในการทำธุรกรรมทางการเงินไปสู่การทำธุรกรรมทางการเงินด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา รวดเร็ว และสะดวกสบาย ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต โดยมีแน้วโน้มที่จะใช้บริการของธนาคารในรูปแบบ ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Banking) หรือ ธนาคารดิจิตอล (Digital Banking) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร
ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Banking, E-Banking) หรือ ธนาคารดิจิทัล (Digital Banking) คือ ระบบการให้บริการในการทำธุรกรรมต่าง ๆ กับธนาคาร ผ่านอินเทอร์เน็ตหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องมาธนาคาร

บริการของธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ มี ดังนี้
1. บริการธนาคารผ่านอินเตอร์เน็ต ผู้ใช้บริการสามารถทำการโอนเงิน เช็คยอดเงิน โอนเงินระหว่างบัญชีของตนเอง โอนเงินบัญชีบุคคลอื่นทั้งบัญชีธนาคารเดียวกันและต่างธนาคาร ชำระค่าสินค้าและบริการ ชำระบัตรเครติด เติมเงินโทรศัพท์มือถือ ชำระเงินกู้ ซื้อขายกองทุน ฯลฯ ได้ด้วยตนเองผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องเดินทางไปที่ธนาคาร การให้บริการธนาคารผ่านอินเตอร์เน็ต ได้แก่ Internet Banking และ Mobile Banking
  • บริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ต (Internet Banking) เป็นบริการธนาคารในระบบออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เข้าไปยังทางเว็บไซต์ของธนาคารที่ผู้ใช้ได้สมัครใช้บริการไว้ เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินด้วยตนเอง
  • บริการธนาคารทางโทรศัพท์มือถือ (Mobile Banking) เป็นการให้บริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตที่พัฒนาขึ้นมาให้สอดรับกับโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา โดยผู้ใช้ต้องติดตั้งแอปพลิเคชันของธนาคารในโทรศัพท์มือถือ บริการธนาคารบนมือถือกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีแนวโน้มจะมีอัตราการใช้มากกว่าการใช้บริการผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์
ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์แทบทุกแห่งเปิดให้บริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ Internet Banking และ Mobile Banking แล้วในชื่อต่าง ๆ กัน เช่น ธนาคารไซเบอร์ (Cyber Banking) ธนาคารออนไลน์ (Online Banking) บริการธนาคารผ่านอินเตอร์เน็ตของธนาคารในประเทศไทยที่เปิดให้บริการ  เช่น
  • ธนาคารกรุงไทย KTB Internet Banking แอปพลิเคชันสำหรับ Mobile Banking คือ KTB netbank
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ SCB Easy Net แอปพลิเคชันสำหรับ Mobile Banking คือ SCB Easy
  • ธนาคารกสิกรไทย K-Cyber Banking แอปพลิเคชันสำหรับ Mobile Banking คือ K-Plus
  • ธนาคารออมสิน GSB Internet Banking แอปพลิเคชันสำหรับ Mobile Banking คือ MyMo
  • ธนาคารกรุงเทพ Bualuang iBanking แอปพลิเคชันสำหรับ Mobile Banking คือ Bualuang mBanking
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา Krungsri Online แอปพลิเคชันสำหรับ Mobile Banking คือ KMA (Krungsri Mobile App)
  • ธนาคารทหารไทย TMB Internet Banking แอปพลิเคชันสำหรับ Mobile Banking คือ TMB Touch
  • ธนาคารธนชาติ Thanachar iNet แอปพลิเคชันสำหรับ Mobile Banking คือ Thanachrt Connect

Application สำหรับ Mobile Banking ของธนาคารต่าง ๆ

2. บริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เช่น
  •  บริการธนาคารทางโทรศัพท์ (Tele Banking) ให้บริการในการสอบถาม หรือเรียกดูข้อมูล และทำธุรกรรมผ่านทางโทรศัพท์อัตโนมัติผ่านทางหมายเลขโทรศัทพ์แบบ Call Center ของแต่ละธนาคาร สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้หลากหลาย โดยไม่ต้องเดินทางไปธนาคาร เช่น สอบถามยอดเงิน ถามยอดบัตรเครดิต โอนเงิน ชำระค่าสินค้าและบริการ เติมเงินโทรศัพท์มือถือ บริการด้านบัตรเครดิต หรือซื้อกองทุน
  •  บริการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม (ATM) 
  •  บริการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยเครื่องทำธุรกรรมทางด้านการเงินอัตโนมัติ VTM (Virtual Teller Machine) ผ่าน VDO Call 
  •  บริการสมาร์ทการ์ด (Smart Card) หรือบัตรชำระเงิน บัตรเดบิตแบบต่าง ๆ
  •  บริการแจ้งเตือนอัตโนมัติผ่านโทรศัพท์มือถือด้วย SMS 
 เครื่องทำธุรกรรมทางด้านการเงินอัตโนมัติ VTM (Virtual Teller Machine) 
โดย ธนาคารกรุงไทย, 2560, สืบค้นจาก https://www.ktb.co.th


เขียน/เรียบเรียง : นัชรี อุ่มบางตลาด สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน). (2561). "E-BANKING คืออะไร ?" สืบค้นจาก https://www.etda.or.th/content/1238.html 

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน). (6 กุมภาพันธ์ 2561). "ธนาคารทางอิเล็กทรอนิกส์". สืบค้นจาก http://www.scb.co.th/th/personal-banking/electronic-banking .

ครูผู้ถ่ายทอดแนวคิดสมาร์ทฟาร์มเมอร์ วรรณพิชัย โยธินพิสุทธิ

ครูวรรณพิชัย โยธินพิสุทธิ เป็นชาวเชียงราย อยู่บ้านเลขที่ 40 หมู่ 1 ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย จบการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. ช่างอิเล็กทรอนิกส์ จากวิทยาลัยเทคนิคเชียงราย และเรียนต่อในระดับปริญญาตรี สาขาช่างอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้เริ่มต้นทำงานเป็นครูมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540 ที่โรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงรายโดยสอนวิชาการอาชีพและเทคโนโลยีในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย นับว่าเป็นครูมาถึง 20 ปีแล้ว นอกจากงานด้านการสอนแล้วในเวลาว่างหลังเลิกงาน ยังรับจ้างซ่อมบำรุงเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ และทำการเกษตรอีกด้วย


กิจกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียนจากอดีตถึงปัจจุบัน เน้นการเรียนการสอนงานบ้าน งานเกษตร งานช่าง งานประดิษฐ์ งานธุรกิจ งานด้านช่างนั้นจะนำนักเรียนออกฝึกปฏิบัติเดินสายไฟตามหมู่บ้าน ส่วนงานเกษตรได้สนับสนุนในให้นักเรียนทำงานการเกษตรตามภาคเรียน ทั้งด้านพืชและสัตว์ การเลี้ยงไก่พื้นเมือง ไก่พันธุ์ไข่ การเลี้ยงจิ้งหรีด การเลี้ยงปลาดุก การปลูกพืชผักสวนครัว และล่าสุดการทำสวนผักกับลาบ และกำลังจะนำองค์ความรู้การปลูกเมล่อนในโรงเรือนในลักษณะสมาร์ทฟาร์มไปฝึกปฏิบัติให้แก่เด็กนักเรียนในปีการศึกษาหน้า

ประสบการณ์ในการทำการเกษตร
ครูวรรณพิชัย เคยทำสวนยางพารามาเป็นเวลา 10 กว่าปี แล้วหยุดมาทำสวนถั่วดาวอินคาในพื้นที่ 4 ไร่ แต่ล้มเหลวเนื่องจากไม่มีคนรับซื้อผลผลิต ทำสวนมะละกอฮอแลนด์และทำสวนกล้วยน้าว้าอีก  4  ไร่ ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากพื้นที่สวนอยู่ห่างจากบ้าน ไม่มีเวลาไปดูแล เพราะต้องทำภาระหน้าที่ในการสอน

ปัจจุบันได้ทำสวนเมล่อนโดยใช้พื้นที่เพียง 1 ไร่ โดยเริ่มต้นจากการทำโรงเรือนเมล่อน 1 โรงเรือนสามารถปลูกได้ 400 ต้น และทดลองปลูกด้านนอกโรงเรือนอีก 300 ต้น และยังแบ่งพื้นที่อีก 1 ส่วน ปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเอง ตามฤดูกาล มีทั้งถั่วฝักยาว ชะอม ข้าวโพดหวาน นอกจานี้ยังมีไม้ผล เงาะ ลำไย ฝรั่ง อาโวคาโด้ ส้มโอ เลี้ยงบ่อปลาดุกในบ่อขนาด 2 คุณ 5 เมตร เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ 60 ตัว มีการทำปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ และมีโครงการที่จะทำแหล่งพลังงาน บ่อแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ เนื่องจากข้างสวนมีเกษตรกรที่ทำการเลี้ยงวัว


เนื่องจากครูวรรณพิชัย ประกอบอาชีพประจำเป็นครูสอนวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี จึงมีเวลาทำการเกษตรเฉพาะตอนเช้า 04.00-06.00 น และตอนเย็นถึงค่ำหลังเลิกงานตั้งแต่เวลา 17.00-21.00 น. ในวันธรรมดา และเต็มวันในวันหยุดเท่านั้น โดยทำเพียงคนเดียวไม่จ้างคนงาน นอกจากมีงานเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น การทำการเกษตรของครูวรรณพิชัย จึงได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องการจัดการ  เช่น การใช้ระบบเซนเซอร์ในการให้น้ำพืชด้วยระบบน้ำหยด และมีการตั้งเวลาสำหรับการให้น้ำและให้อาหารแก่ปลาดุกและไก่พันธุ์ไข่ และการใช้วงจรปิดเพื่อติดตามดูความเคลื่อนไหวในสวน ประกอบกับการสั่งงานทางโทรศัพท์มือถือ การจำหน่ายผลิตผ่านสื่อโซเซียล

การจะพัฒนาฟาร์มอย่างรวดเร็วจำเป็นต้องใช้ทุนจำนวนไม่น้อย แต่ครูวรรณพิชัยเลือกจะพัฒนาฟาร์มของตนที่ละน้อย โดยเน้นการพึ่งตนเอง พอดี พอเพียง มีความเสี่ยงน้อยที่สุด แต่ก็ได้วางแผนระยะการพัฒนาไว้ 5 ปี โดยตั้งใจทำการเกษตรในพื้นที่ 1 ไร่ เพื่อใช้เป็นแหล่งผลิตอาหารให้ครอบครัว หลังจากนั้นมีแนวคิดที่จะพัฒนาฟาร์มของตนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่เรียนวิชาอาชีพตนเองสอนอยู่และผู้สนใจทั่วไป ส่วนในขณะนี้ทำในลักษณะทำกินทำอยู่และทำเพื่อทดลองวิธีการเกษตรต่าง ๆ เปรียบเสมือนเป็นห้องเรียนส่วนตัวของตน ยังไม่เปิดให้ชุมชนเข้ามาศึกษา 

การทำการเกษตรของครูวรรณพิชัย เป็นไปตามแนวคิดของสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ดังนี้
ประการที่ 1 เป็นผู้มีความรู้ในเรื่องที่ทำอยู่ สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร หรือให้คำแนะนำปรึกษากับผู้อื่นที่สนใจในเรื่องที่ทำอยู่ได้
เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในสวน มีการใช้ระบบน้ำหยด การให้น้ำให้ปุ๋ยไปกับหัวน้ำหยด การใช้สปริงเกอร์  และมินิสปริงเกอร์ การใช้ไทเมอร์ในการปิดเปิดน้ำ นอกจากนี้ครูวรรณพิชัย ยังได้ถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษาแก่นักเรียน และผู้สนใจ

ประการที่ 2 มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลทั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอื่น ๆ เช่น Internet, Mobile smart phone 
โดยใช้เฟสบุค 2 แห่ง ในชื่อ อวรรณพิชัย โยธินพิสุทธิ  และรุ้งฟาร์ม และไลน์ไอดีไลน์ 0821946933

ประการที่ 3 มีการบริหารจัดการผลผลิตและการตลาด มีความสามารถในการบริหารจัดการปัจจัยการผลิต แรงงาน และทุน สามารถเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดเพื่อให้ขายผลผลิตได้ ตลอดจนสามารถจัดการของเหลือจากการผลิตที่มีประสิทธิภาพ (Zero waste management) ผลผลิตจัดจำหน่ายผ่านสื่อออนไลน์ และลูกค้าขาประจำ ส่วนการกำจัดของเสียเศษวัสดุจะถูกนำมาทำปุ๋ยหมัก

ประการที่ 4 เป็นผู้มีความตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค มีความรู้หรือได้รับการอบรมเกี่ยวกับมาตรฐาน GAP/GMP เกษตรอินทรีย์ หรือมาตรฐานอื่นๆ (Good Agriculture Practice การจัดการเกษตรที่ดี, Good Manufactory Practice การจัดการโรงงานที่ดี)
กำกับดูแลด้วยตนเองใช้สารเคมีน้อยที่สุดและบางอย่างไม่ใช้เลย โดยอาศัยการปลูกในโรงเรือนและสารชีวภาพ นอกจากนี้ได้เคยอบรมและศึกษาดูงานเกษตรอินทรีย์ที่ไร่ อ.อธิศพัฒน์ ในจังหวัดเลย และนำมาประยุกต์ใช้ในฟาร์มของตนเอง 

ประการที่ 5 มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม/สังคม มีกระบวนการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม (Green economy) มีกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง
กระบวนการผลิตไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเช่น เศษวัสดุไม่เผาแต่ทำปุ๋ยหมักแทน 

ประการที่ 6 มีความภูมิใจในความเป็นเกษตรกร มีความมุ่งมั่นในการประกอบอาชีพการเกษตร รักและหวงแหนพื้นที่และอาชีพทางการเกษตรไว้ให้คนรุ่นต่อไป มีความสุขและพึงพอใจในการประกอบอาชีพการเกษตร
ปัจจุบันแม้ประกอบอาชีพเป็นครูเป็นหลัก แต่ก็มีความภูมิใจในการเป็นเกษตรกรด้วยเช่นกัน โดยทำการเกษตร จะทำอาชีพเกษตร และตอน เช้า 04.00  น- 06.00 น   พื้นที่ 1 ไร่  และวันหยุดทำเพียงคนเดียวไม่จ้างใครช่วยนอกจากงานเร่งด่วน ไม่มีคนงาน ในพื้นที่ 1 ไร่  มีแนวคิดที่จะใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่สอนอยู่และผู้สนใจทั่วไป และใช้แหล่งผลิตอาหารให้กับครอบครัว


สัมภาษณ์/เขียน : รักษัก สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

ภาพประกอบ : จากเฟรซบุ๊ค 
วรรณพิชัย โยธินพิสุทธิ, 2561, สืบค้นจาก https://www.facebook.com/profile.php?id=100003406751716

อ้างอิง :
วรรณพิชัย โยธินพิสุทธิ. (2561, 23 มีนาคม). ครูโรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย [บทสัมภาษณ์].


Friday, 4 May 2018

Agri-map Mobile แอปพลิเคชันสำหรับสมาร์ทฟาร์มเมอร์

Agri-Map Mobile เป็น แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้เกษตรกรและเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงและใช้ข้อมูลเชิงสารสนเทศด้านการเกษตร เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีระบบการวิเคราะห์ข้อมูลและสามารถเลือกปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทนให้เหมาะสมตามชั้นความเหมาะสมของดิน ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลพร้อมติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง ครอบคลุมการนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการ การเพาะปลูก ผลผลิตด้านการเกษตร ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และคาดการณ์ในอนาคต สามารถใช้งานได้จากทุกที่ ทุกเวลา ผ่านสมาร์ทโฟนในระบบ Android

ภาพ Agri-Map Mobile จากเว็บไซต์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, 2560, สืบค้นจาก https://www.nectec.or.th/innovation/innovation-mobile-application/agri-map-mobile.html

ข้อมูลแผนที่ด้านการเกษตร ใน Agri-Map Mobile ประกอบด้วย
  • ข้อมูลพื้นที่ด้านการเกษตร ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร
  • ใช้ง่ายเพียงปักหมุดลงในแผนที่หรือระบุพิกัด ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลหลักด้านการเกษตรในระดับประเทศ จังหวัด อำเภอ และตำบล
  • แสดงรายละเอียดชั้นข้อมูลเชิงพื้นที่ แบ่งตามชั้นสีพร้อมคำอธิบายได้ตามที่ผู้ใช้กำหนด
  • มีข้อมูลทางเลือกการปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทน พร้อมรายละเอียดที่สำคัญ เช่น การเพาะปลูก ต้นทุน ผลตอบแทนต่อไร่ และแหล่งรับซื้อ แสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเกษตรในรูปแบบสถิติ กราฟ ตัวเลข
  • ตรวจสอบพื้นที่เหมาะสม
  • สำรวจทางเลือกในการปลูกพืชทดแทน
  • แสดงรายละเอียดข้อมูลทับซ้อนเชิงแผนที่
ภาพ Agri-Map Mobile จากเว็บไซต์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, 2560, สืบค้นจาก 
https://www.nectec.or.th/innovation/innovation-mobile-application/agri-map-mobile.html

คู่มือการใช้งาน Agri-Map Mobile

คลิปวีดิทัศน์คู่มือการใช้งาน Agri-Map Mobile
https://www.youtube.com/watch?v=CxlPzUlNfZY โดย NECTEC
เผยแพร่เมื่อ 25 พ.ค. 2017


เรียบเรียง : นัชรี อุ่มบางตลาด สถาบัน กศน.ภาคเหนือ

อ้างอิง :
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดใช้ "Agri-Map Mobile" แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกบนมือถือ. สืบค้นจาก https://www.nectec.or.th/news/news-pr-news/agri-map-mobile-press.html

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. (2560). ติดปีกให้เกษตรกรไทยยุค Thailand 4.0. สืบค้นจาก https://www.nectec.or.th/news/news-pr-news/agrimap-smartfarmer.html

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. (2560). Agri-Map Mobile. สืบค้นจาก https://www.nectec.or.th/innovation/innovation-mobile-application/agri-map-mobile.html
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. (2560).